วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีรหัสแท่ง (Barcode)

เทคโนโลยีรหัสแท่ง (Barcode)
ตัวอย่างบาร์โค้ด
                 รหัสแท่ง หรือบาร์โค้ด (Barcode) เป็นลายเส้นตรง ๆ มีตัวเลขกำกับอยู่ด้านล่าง ปัจจุบันจะเห็นได้จากบนปกหนังสือ หรือสินค้าแทบทุกชนิด ซึ่งบาร์โค้ดสามารถช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างมาก บาร์โค้ดได้มีการออกสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม (พ.ศ.2495)

ประวัติบาร์โค้ด (History) ?

              บาร์โค้ดถูกประดิษฐ์ขึ้นจากฝีมือการคิดประดิษฐ์ของ Norman Joseph Woodland และ Bernard Silver สองศิษย์เก่าของ Drexel Institute of Technology ในเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา โดยจุดประกายของ การประดิษฐ์บาร์โค้ด เริ่มต้นจาก Wallace Flint จาก HarvardBusinessSchool ในปี ค.ศ.1932  ซึ่งเขาได้เสนอการเลือกสินค้าที่ต้องการจากรายการ โดยใช้บัตรเจาะรู เพื่อแบ่งหมวดหมู่เดียวกัน แต่ความคิดดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้ถูกสานต่อ
              จนกระทั่ง Bernard Silver ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่เกิดบังเอิญไปได้ยินประธาน
บริษัทค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครายหนึ่งในเมือง ฟิลาเดลเฟีย ปรึกษากับคณบดีว่าทางมหาวิทยาลัยน่าจะส่งเสริมให้มีการทดลองเกี่ยวกับระบบจัดเก็บ และอ่านข้อมูลสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจค้าปลีกในการทำสต็อก และด้วยความที่ Bernard ไม่ได้ฟังแบบเข้าหูขวาทะลุหูซ้าย เขาจึงนำสิ่งที่ได้ยินกลับมาครุ่นคิด และชักชวนให้ศิษย์ผู้พี่ Norman Joseph Woodland มาร่วมกันทำฝันให้เป็นจริง
              ในปี ค.ศ.1952 ทั้งคู่ก็ให้กำเนิด บาร์โค้ด หลังพยายามทดลอง ประดิษฐ์บาร์โค้ด อยู่นานหลายปี และได้มีการออกสิทธิบัตรบาร์โค้ดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม และในปีเดียวกันนั้นเอง บาร์โค้ดชนิดแรกที่ทั้งสองผลิตขึ้นนั้นไม่ได้เป็นลายเส้นอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน แต่มีลักษณะคล้ายๆ แผ่นปาเป้าที่ประกอบด้วยวงกลมสีขาวซ้อนกันหลายๆ วงบนพื้นหลังสีเข้ม ทว่าผลงานครั้งนั้นก็ยังไม่ถูกใจทั้งสองเท่าที่ควร แต่ร้านค้าปลีกในเครือ Kroger ที่เมืองซินซินนาติ มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้นำเอาระบบบาร์โค้ดแบบแผ่นปาเป้าไปใช้เป็นแห่งแรกของโลก ในปี ค.ศ.1967
                 ต่อมาได้มีการพัฒนาบาร์โค้ด และประดิษฐ์เครื่องสแกนบาร์โค้ดขึ้น และใช้งานเป็นครั้งแรกในโลกที่ Marsh’s ซูเปอร์มาร์เก็ต ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1974 และ ในวันที่ 26 เดือนนั้น หมากฝรั่ง Wrigley's Juicy Fruit  ก็กลายเป็นสินค้าชิ้นแรกในโลกที่ถูกสแกนบาร์โค้ด เพราะมันเป็นสินค้าชิ้นแรกที่ถูกหยิบขึ้นจากรถเข็นของลูกค้าคนแรกของร้านในวันนั้น

บาร์โค้ดคืออะไร (What is a barcode) ?
                บาร์ดโค้ด หรือรหัสแท่งคือ การแทนข้อมูลที่เป็นรหัสเลขฐานสอง (Binary Codes) ในรูปแบบของแถบสีดำ และสีขาวมีความกว้างของแถบสีต่างกันขึ้นอยู่กับตัวเลขที่อยู่ด้านล่าง การอ่านข้อมูลจะอาศัยหลักการสะท้อนแสง เพื่ออ่านข้อมูลเข้าเก็บในคอมพิวเตอร์โดยตรงไม่ต้องผ่านการกดปุ่มที่แป้นพิมพ์ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กัน การนำเข้าข้อมูลจากรหัสแถบของสินค้าเป็นวิธีที่รวดเร็วและความน่าเชื่อถือได้สูงและให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้งานได้ดี
             ทั้งนี้ เทคโนโลยี บาร์โค้ด ถูกนำมาใช้ทดแทนในส่วนการบันทึกข้อมูล (Data Entry) ด้วยคีย์บอร์ด ซึ่งมีอัตราความผิดพลาดอยู่ประมาณ 1 ใน 100 หรือบันทึกข้อมูลผิดพลาดได้ 1 ตัวอักษร ในทุก ๆ 100 ตัวอักษร แต่สำหรับระบบบาร์โค้ด อัตราการเกิดความผิดพลาดจะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10,000,000 ตัวอักษรเลยทีเดียว นี่จึงเป็นเหตุผลที่นิยมนำมาใช้กันแพร่หลายทั่วโลก
                       สำหรับระบบบาร์โค้ด จะใช้ควบคู่กับเครื่องอ่าน ที่เรียกว่า เครื่องยิงบาร์โค้ด (Scanner) ซึ่งเป็นเป็นตัวอ่านข้อมูล ที่อยู่ในรูปรหัสแท่ง เป็นข้อมูลตัวเลข หรือตัวอักษร ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งาน

วิวัฒนาการบาร์โค้ด (Evolution) ?
              ในช่วงแรกๆ นั้นบาร์โค้ดถูกนำมาใช้ในร้านขายของชำ และตามปกหนังสือ ต่อมาเริ่มพบในร้านอุปกรณ์รถยนต์ และร้านอุปโภคบริโภคทั่วไป ในยุโรปรถบรรทุกที่จะต้องวิ่งระหว่างประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนีจะต้องติดรหัสบาร์โค้ดที่หน้าต่างทุกคัน เพื่อใช้ในการแสดงใบขับขี่ ใบอนุญาต และน้ำหนักรถบรรทุก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถตรวจได้ง่าย และรวดเร็ว ในขณะที่รถลดความเร็วเครื่องตรวจจะอ่านข้อมูลจากบาร์โค้ด และแสดงข้อมูลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทันที
              ในปัจจุบันบาร์โค้ดได้มีการพัฒนาไปมากทั้งรูปแบบและความสามารถในการเก็บข้อมูล โดยบาร์โค้ดที่ใช้มีทั้งแบบ 1 มิติ 2 มิติ และ  3 มิติ แต่ที่ใช้กันทั่วไปในสินค้านั้นเป็นแบบมิติเดียว ซึ่งบันทึกข้อมูลได้จำกัด ตามขนาดและความยาว โดยบาร์โค้ด 2 มิติ จะสามารถบันทึกข้อมูลได้มากกว่าแบบอื่นๆ และขนาดเล็กกว่า รวมทั้งสามารถพลิกแพลงการใช้งานได้มากกว่า ขนาดที่ว่าสามารถซ่อนไฟล์ใหญ่ ๆ ทั้งไฟล์ลงบนรูปภาพได้เลยทีเดียว
               อย่างไรก็ตาม บาร์โค้ด 2 มิติ ก็ยังไม่เสถียรพอ ทำให้การนำมาใช้งานหลากหลายเกินไป จนอาจเกิดปัญหาการใช้งานร่วมกัน และต้องใช้เครื่องมือเฉพาะของมาตรฐานนั้น ๆ ในการอ่าน ซึ่งในปัจจุบันมีความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานของบาร์โค้ด 2 มิติ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิคส์ และ อุตสาหกรรมยา/เครื่องมือแพทย์ ที่มีความต้องการใช้งานบาร์โค้ดที่เล็กแต่บรรจุข้อมูลได้มาก จนได้บาร์โค้ดลูกผสมระหว่าง 1 มิติกับ 2 มิติขึ้นมา ในชื่อเดิมคือ RSS Reduce Space Symbol หรือชื่อใหม่คือ GS1 DataBar
               สำหรับประเทศไทย เคยมีการทดลองใช้บาร์โค้ด 2 มิติในเชิงพาณิชย์ โดยค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ แต่ก็เงียบหายไป เนื่องจากขาดการสร้างความเข้าใจให้กับฐานลูกค้าที่ชัดเจน
              ส่วนบาร์โค้ด 3 มิติ คือความพยายามที่จะแก้ข้อจำกัดของบาร์โค้ด ที่มีปัญหาในสภาวะแวดล้อมที่เสี่ยง เช่น ร้อนจัด หนาวจัด หรือมีความเปรอะเปื้อนสูง เช่น มีการพ่นสี พ่นฝุ่นตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะพบการใช้ บาร์โค้ด 3 มิติ ในอุตสาหกรรมหนัก ๆ เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ โดยจะยิงเลเซอร์ลงบนโลหะ เพื่อให้เป็นบาร์โค้ด หรือจัดทำให้พื้นผิวส่วนหนึ่งนูนขึ้นมาเป็นรูปบาร์โค้ด (Emboss) นั่นเอง

ประเภทบาร์โค้ด (
Type of barcode) ?
1.โค้ดภายใน (Internal Code) เป็นบาร์โค้ดที่ทำขึ้นใช้เองในองค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถนำออกไปใช้ภายนอกได้  
2.โค้ดมาตรฐานสากล (Standard Code) เป็นบาร์โค้ดที่เป็นที่รู้จัก และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มี 2 ระบบ คือ
        • ระบบ EAN (European Article Numbering) เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีประเทศต่าง ๆ ใช้มากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ในภาคพื้นยุโรป เอเชีย และแปซิฟิก, ออสเตรเลีย, ลาติน อเมริกา รวมทั้งประเทศไทย ทั้งนี้ EAN มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม
        • ระบบ UPC (Universal Product Code) เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งกำหนดมาตรฐานโดย Uniform Code Council.Inc ใช้แพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา และ แคนาดา
         สำหรับบาร์โค้ดในประเทศไทยเริ่มนำมาใช้อย่างจริงจัง โดยมีสถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย (Thai Article Numbering Council) หรือ TANC เป็นองค์กรตัวแทน EAN ภายใต้การดูแลของสภาอุตสาหกรรมกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ระบบ EAN ที่ประเทศไทยใช้นั้นจะมีลักษณะเป็นเลขชุด 13 หลัก ซึ่งมีความหมายดังนี้
         885 : ตัวเลข 3 หลักแรก คือรหัสของประเทศไทย
         xxxx : ตัวเลข 4 ตัวถัดมา เป็นรหัสโรงงานที่ผลิต หรือรหัสสมาชิก
         xxxxx : 5 ตัวถัดมา เป็นรหัสสินค้า
         x : ตัวเลขหลักสุดท้ายเป็นตัวเลขตรวจสอบ เลข 12 ข้างหน้าว่ากำหนดถูกต้องหรือไม่ ถ้าตัวสุดท้ายผิด บาร์โค้ดตัวนั้นจะอ่านไม่ออก สื่อความหมายไม่ได้

บาร์โค้ดกับห้องสมุด (
Bar code
 with the Library) ?
              การใช้งานบาร์โค้ดในระบบห้องสมุดอัตโนมัติ OPENBIBLIO มีการใช้งานบาร์โค้ดหลัก คือ CODE39 หรือ CODABAR ก็ได้สำหรับบาร์โค้ดที่พิมพ์โดยระบบสำหรับติดที่ตัวเล่ม และที่บัตรสมาชิก 
  • บาร์โค้ดบัตรสมาชิก : เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานตามขั้นตอนการยืม เมื่อใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ดอ่านบัตรสมาชิก ระบบจะทำการสืบค้นข้อมูลสมาชิกและนำข้อมูลที่ได้แสดงบนจอ จากนั้นระบบก็จะรอให้อ่านรหัสบาร์โค้ดของหนังสือที่ต้องการยืม อ่านบาร์โค้ดของหนังสือจนหมด หากมีสมาชิกคนอื่นเข้าแถวให้ใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ดอ่านบาร์โค้ดคำสั่ง BORROW ระบบจะรออ่านรหัสบาร์โค้ดของสมาชิกคนต่อไปทันที ทำให้ไม่ต้องคลิกคำสังด้วยเมาส์ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว หากป้อนรหัสบาร์โค้ดแล้วได้คำตอบมากกว่า 1 รายการระบบจะแสดงผลของคำตอบให้เลือก 
  • บาร์โค้ดทรัพยากรห้องสมุด : หากหนังสือในห้องสมุดมีการติดบาร์โค้ดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อพิมพ์บาร์โค้ดของทรัพยากรห้องสมุด ระบบจะทำการสืบค้นทรัพยากรห้องสมุด สามารถอำนวยความสะดวกในการสืบค้นรายละเอียดทางบรรณานุกรม และการยืม คืน และการจองหนังสือด้วย 
  • การใช้งานเครื่องอ่านบาร์โค้ด : ในการใช้งานเครื่องอ่านบาร์โค้ดร่วมกับระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Openbiblio นั้น สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องอ่านบาร์โค้ดทุกชนิดที่สามารถจำลองตัวเองเป็นแป้นพิมพ์ได้ รวมทั้งเครื่องอ่านชนิด USB และ เพื่อให้ระบบทำงาน้ด้อย่างต่อเนื่อง จะต้องกำหนดให้เครื่องอ่านบาร์โค้ดเติมคำสั่ง Enter ให้อัตโนมัติ การติดบาร์โค้ดที่รายการตัวเล่ม จะช่วยให้การให้บริการสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว การติดบาร์โค้ดควรเลือกติดในตำแหน่งที่สะดวกในการใช้งานไม่ต้องเปิดหนังสือ อยู่ในระดับเดียวกัน มีรูปและการติดคนละด้านกับ ISBN 
  • การพิมพ์บาร์โค้ดสำหรับทรัพยากรห้องสมุด : ในการพิมพ์บาร์โค้ดนั้นใช้ทางเลือก ระบบสนับสนุน ของโปรแกรม OPENBIBLIO หรือเลือกใช้โปรแกรมอื่น ๆ สำหรับพิมพ์ก็ได้


http://www.muslimthai.com/main/1428/content.php?category=110&id=5299
http://www.sahavicha.com/?name=blog&file=readblog&id=6230
http://www.kroobannok.com/20334
http://202.143.145.166/lis3/shared/help.php?page=barcodes



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น